-
กัณฑ์ที่ ๑๐
-
คารวาธิกถา
-
๑๐ มกราคม ๒๔๙๗
-
-
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
-
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
-
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ
-
เย จ อตีตา สมฺพุทฺธา เย จ พุทฺธา อนาคตา
-
โย เจตรหิ สมฺพุทฺโธ พหุนฺนํ โสกนาสโน
สพฺเพ สทฺธมฺมครุโน วิหรึสุ วิหาติ จ
-
อถาปิ วิหริสฺสนฺติ เอสา พุทฺธาน ธมฺมตา
-
ตสฺมา หฺ อตฺตกาเมน มหตฺสมภิกงฺขตา
สทฺธมฺโม ครุกาตพฺโพ สรํ พุทฺธาน สาสนนฺติ ฯ
-
- ณ บัดนี้อาตมาภาพจักได้แสดงธรรมิกถา เฉลิมเพิ่มเติมศรัทธาของท่านทั้งหลาย ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้าล้วนประกอบด้วยสวนเจตนา ใคร่เพื่อจะฟังพระสัทธรรมเทศนา ก็ ณ บัดนี้อาตมาจะได้แสดงในเรื่อง คารวาธิกถา วาจาเครื่องกล่าวปรารถถึงความเคารพในพระธรรม เป็นข้อใหญ่ใจความสำคัญ เรื่องนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกๆ พระองค์ย่อมเป็นแบบเดียวกันหมด ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าที่จะเคารพสิ่งอื่นไม่มี นอกจากพระธรรมแล้ว พระพุทธเจ้าเคารพพระธรรมอย่างเดียว คือเมื่อได้ตรัสรู้แก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว พระองค์ตั้งพระทัยแน่แน่ว สิ่งอื่นนอกจากพระธรรม ที่ตถาคตจะเคารพนั้นไม่มี ประเพณีพระพุทธเจ้าแต่ก่อนๆ ก็แบบเดียวกัน เมื่อได้ตรัสรู้แก่พระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแล้ว ก็เคารพพระธรรมอย่างเดียวเท่านั้น การเคารพต่อพระธรรมเราต้องเข้าใจเสียให้ชัด วันนี้จะชี้แจงแสดงให้ แจ่มแจ้งว่าการเคารพทำท่าไหนอย่างไรกัน ความเคารพของเราท่านทั้งหลายใน บัดนี้ซึ่งปรากฏอยู่เมื่อเด็กๆ เล็กๆ ก็เคารพต่อพ่อแม่ เพราะได้นมจากพ่อแม่ เลี้ยงอัตภาพให้เป็นไปหายหิว เคารพต่อพ่อแม่ ก็เพื่อจะกินนมเท่านั้นเองยังไม่รู้เรื่องเดียงสาอันใด เคารพแม่จะรับนมเท่านั้น ครั้นเจริญวัยวัฒนาเป็นลำดับ อยากได้ผ้าเครื่องนุ่งห่มพ่อแม่ให้ก็เคารพพ่อแม่อีก เมื่อพ่อแม่ให้ผ้าเครื่องนุ่งห่มก็เคารพ เพราะอยากได้ผ้านุ่งห่มเท่านั้นจึงได้เคารพ ครั้นเจริญวัยวัฒนาเป็นลำดับขึ้นไป การอยากได้มันก็มากออกไป อาหารเครื่องเลี้ยงท้องอีกอยากได้อาหารเครื่องเลี้ยงท้องหิวได้จากพ่อแม่ หิวเวลาใดก็เคารพพ่อแม่อีก เคารพเพื่อจะกินอาหารเท่านั้นไม่ได้เคารพเรื่องอื่น แล้วต่อมาจะต้องการสิ่งใดเจริญวัยวัฒนาเป็นลำดับ ต่างว่าเด็กหญิงเด็กชายมีนิสัยดีอยากจะเล่าเรียนศึกษาก็ต้องอ้อนวอนพ่อแม่ เคารพพ่อแม่อีก เพื่อจะได้ทุนค่าเล่าเรียนศึกษา เคารพเท่านั้นไม่ได้เคารพเรื่องอื่น ครั้นเจริญวัยวัฒนาเป็นลำดับ เมื่อได้เล่าเรียนศึกษาสำเร็จแล้วจะครองเรือน จะทำงานสมรส ก็ต้องเคารพพ่อแม่อีก เอาเงินเอาทองจากพ่อแม่ เคารพเพื่อจะเอาเงินเอาทองไปแต่งงานเท่านั้น ไม่ได้เคารพเรี่องอื่นเมื่อต้องภัยได้ทุกข์ใดๆ ก็คิดถึงพ่อแม่เพราะจะให้พ่อแม่ช่วยเหลือแก้ไข เคารพพ่อแม่ก็เพื่อจะให้พ่อแม่ช่วยแก้ไขเพื่อให้ตัวเป็นสุขสบายเท่านั้น การเคารพเหล่านี้พระพุทธเจ้าก็ทำมาแล้วแต่เด็กๆ มา เราก็ได้ทำมาแล้วแต่เด็กๆ การเคารพเหล่านี้ เคารพอย่างเด็กๆ ปราศจากปัญญา เคารพที่มีปัญญากันพ่อบ้านก็เคารพแม่บ้าน แม่บ้านก็เคารพพ่อบ้าน เพื่อต้องการให้ความสุขซึ่งกันและกัน เคารพต้องการให้ความสุขนั่นเอง ต้องการเอาความสุขนั้นเอง หรือต้องภัยได้ทุกข์ใดๆ ไม่มีใครจะช่วยเหลือ พ่อบ้านก็คิดถึงแม่บ้าน แม่บ้านก็คิดถึงพ่อบ้าน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ถ้าช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่ได้ก็ต้องเลิกกัน เลิกเคารพกัน เลิกนับถือกัน ต้องแยกจากกัน นี่ความเคารพกันเป็นอย่างนี้ การเคารพเหล่านี้เป็นการเคารพสามัญทั่วโลกเป็นอยู่อย่างนี้การเคารพของพระพุทธเจ้าที่ว่าท่านเป็นผู้เคารพในพระสัทธรรม การเคารพทั้งหลายที่ท่านได้ผ่านมาแล้วมากน้อยเท่าใด นอกจากเคารพในธรรมแล้วไม่ประเสริฐเลิศกว่านี่ประเสริฐเลิศกว่า ท่านถึงปล่อยความเคารพ วางความเคารพอื่นเสียทั้งหมด เคารพในพระสัทธรรมทีเดียว การเคารพในพระสัทธรรม เคารพในพระสัทธรรม ท่านก็แนะนำวางตำรับตำราเป็นเนติแบบแผน ของภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ในยุคนี้และตั้งแต่ครั้งพุทธกาลนั้นมา จนกระทั่งถึงบัดนี้และต่อไปในภายหน้า สมที่บาลีว่า เย จ สมฺพุทฺธา อตีตา เย จ พุทฺธา อนาคตา โย เจตรหิ สมฺพุทฺโธ พหุนฺนํ โสกนาสโน สพฺเพ สทฺธมฺมครุโน วิหรึสุ วิหาติ จ อถาปิ วิหริสฺสนฺติ เอสา พุทฺธาน ธมฺมตา ดังนี้ พระคาถาหนึ่ง แปลเนื้อความเป็นสยามภาษาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดที่ล่วงไปแล้ว ที่ล่วงไปแล้วด้วย พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดที่จะมาในอนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้าด้วย พระสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ซึ่งยังความโศกของชนเป็นอันมากให้พินาศไป ซึ่งปรากฏอยู่ในบัดนี้ด้วย สพฺเพ สทฺธมฺมครุโน ล้วนเคารพสัทธรรมทั้งสิ้น วิหรึสุ วิหาติ จ มีอยู่แล้วด้วย มีอยู่ในบัดนี้ด้วย แม้อันหนึ่งจะมีต่อไปในอนาคตภายภาคเบื้องหน้าด้วย ข้อนี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เอสา พุทฺธาน ธมฺมตา ข้อนี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตสฺมา หิ อตฺตกาเมน มหตฺตมภิกงฺขตา สทฺธมฺโม ครุกาตพฺโพ สรํ พุทฺธนสาสนํ เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้อยากเป็นใหญ่ บุคคลผู้หวังประโยชน์แก่ตน จำนงความเป็นใหญ่ ควรเคารพพระสัทธรรม คำนี้เป็นศาานาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกๆ พระองค์ สืบมาเป็นดังนี้ ให้เคารพพระสัทธรรมเดียวเท่านั้น
- คำว่า เคารพสัทธรรม เป็นข้อที่ลึกล้ำนัก คำว่า เคารพ ทำกันอย่างไร ทำกันท่าไหน ทำกันไม่ถูก ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาทำไม่ถูก ไม่ไช่เป็นของทำง่าย พระพุทธเจ้ากว่าจะเคารพพระสัทธรรมถูก ต้องสร้างบารมี ๔ อสงไขย แสนมหากัปป์ ๘ อสงไขยแสนมหากัปป์ ๑๖ อสงไขยแสนมหากัปป์ กว่าจะทำความเคารพในพระสัทธรรมถูก กว่าจะปลงใจลงไปเคารพในพระสัทธรรมอย่างเดียว ไม่เคารพอื่นต่อไป กว่าจะถูกลงไปดังนี้ไม่ใช่เป็นของเล็กน้อย บัดนี้เราประสบพบพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าบอกแล้ว เราเชื่อพระพุทธเจ้ากันหละว่าจะเคารพธรรมตามเสด็จพระพุทธเจ้า เหมือนพระพุทธเจ้า แล้วท่านย้ำไว้ในท้ายพระสูตรนี้ว่า บุคคลผู้รักตน บุตคลผู้มุ่งหวังประโยชน์แก่ตน จำนงความเป็นใหญ่ ควรเคารพสัทธรรม ถ้าเคารพสัทธรรมถึงซึ่งความเป็นใหญ่ ไม่ใช่เป็นของพอดีพอร้าย พระพุทธเจ้าท่านเคารพพระสัทธรรม ท่านก็เป็นใหญ่กว่ามนุษย์ในชมพูทวีป แสนโกฏิจักรวาล อนันตจักรวาล เป็นใหญ่กว่าหมดทั้งนั้น ท่านเคารพสัทธรรม ถ้าไม่เคารพสัทธรรมละก็ด้อย เป็นใหญ่กับเขาไม่ได้ ถ้าเคารพสัทธรรมละก็ไม่ด้อย เป็นใหญ่กับเขาได้ เราจะต้องรู้จักพระสัทธรรมและรู้จักท่าเคารพนี้เป็นข้อสำคัญ
- พระสัทธรรมคืออะไร เราจะเคารพเราจะทำท่าไหน ข้อนี้แหละเป็นของยากนักหละ
- พระสัทธรรมนั้น ธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ดวงใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ เวลานี้อยู่กลางกายมนุษย์ ธรรมดวงนั้นแหละ ใสบริสุทธิ์มีอยู่ในกายมนุษย์ กายมนุษย์นั้นก็ได้รับความสุขรุ่งเรืองผ่องใส ถ้าธรรมดวงนั้นซูบซีดเศร้าหมอง กายมนุษย์นั่นก็ไม่รุ่งเรืองไม่ผ่องใส นั่นดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ดวงหนึ่งเท่าฟองไข่แดงของไก่ นี่ไม่ใช่ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า เป็นธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ แต่ว่าแบบเดียวกัน ธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด ตั้งอยู่ศูนย์กลางกายมนุษย์ละเอียดนั้น ๒ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ใสดุจเดียวกัน ใสหนักขึ้นไป
- ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ ๓ เท่าฟองไข่แดงของไก่ กลมรอบตัวแบบเดียวกัน ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด ๔ เท่าฟองไข่แดงของไก่ใหญ่ขึ้นไปเป็นลำดับนี่ดวงธรรมหละ
- ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม ๕ เท่าฟองไข่แดงของไก่ใสกลมรอบตัว นี่ดวงธรรมหละ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียด ๖ เท่าฟองไข่แดงของไก่
- ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม ใสหนักขึ้นไป ๗ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด ๘ เท่าฟองไข่แดงของไก่
- นั่นแหละนี่รู้จักธรรม ดวงธรรมนั่นแหละ ธรรมอื่นจากนี้ไม่มี นี่แหละดวงธรรมหละ บอกตรงหละ ดวงธรรมนั่นแหละ
- ทีนี้ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรม วัดผ่าเส้นศูนย์กลางเท่าหน้าตักของกายธรรม กายธรรมหน้าตักเท่าไหน ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรมก็วัดผ่าเส้นศูนย์กลางโตเท่านั้น กลมรอบตัวดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรมละเอียดวัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๕ วา กลมรอบตัวเท่ากัน
- ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระโสดา วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๕ วา กลมรอบตัว ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระโสดาละเอียดวัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๑๐วา กลมรอบตัว
- ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระสกทาคา วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๑๐ วา กลมรอบตัวดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระสกทาคาละเอียดวัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๑๕ วากลมรอบตัว
- ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระอนาคา วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๑๕ วา กลมรอบตัวดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระอนาคาละเอียดวัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๒๐ วา กลมรอบตัว
- ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระอรหัต วัดผ่าเส้นศูนย์กลาง ๒๐ วา กลมรอบตัว นี่พระพุทธเจ้านี้ ดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอรหัตละเอียด วัดผ่าเส้นศูนย์กลางโตหนักขึ้นไป นี่แค่ ๒๐ วา นี่ดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้าพที่พระพุทธเจ้าสำเร็จดวงเท่านี้
- ที่พระพุทธเจ้าท่านเคารพพระสัทธรรมท่านทำท่าไหนล่ะ ทีนี้ถึงธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า ท่านจะทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าเคารพพระสัทธรรม เราจะเคารพบ้าง จะทำเป็นตัวอย่างเอาพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง เราจะเคารพบ้างพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ทำท่าไหน ท่านเอาใจของท่านนั่นแหละหยุดไปที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายของท่าน ท่านหยุดขึ้นไปตั้งแต่กายมนุษย์ นี้ที่แสดงไปแล้ว หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เป็นลำดับขึ้นไปเข้าถึงกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม รูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด กายธรรม กายธรรมละเอียด โสดา โสดาละเอียด สกทาคา สกทาคาละเอียด อนาคา อนาคาละเอียด พระอรหัต พระอรหัตละเอียด เข้าถึงพระอรหัตโน่น พอถึงพระอรหัตแล้ว ใจท่านติดอยู่กับดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอรหัตไม่ถอนเลยทีเดียว ติดแน่นทีเดียว ติดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอรหัตนั่น ติดอยู่กลางดวงธรรมนั่นแหละ ไม่คลาดเคลื่อนละถอน ไปไหนก็ไม่ไป ติดอยู่นั่นแหละ ติดแน่นทีเดียว
- เมื่อติดแน่นแล้วท่านก็สอดส่องมองดูทีเดียว ว่าประเพณีของพระพุทธเจ้า เมื่อได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วนับถืออะไร เคารพอะไร เคารพอะไรบ้าง ไปดูหมด ไปดูตลอดหมด ทุกพระองค์เหมือนกันหมด แบบเดียวกันหมด ใจของท่านมาติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้านี้ทั้งนั้น ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า กำเนิดดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า หยุดอยู่นี้เอง ติดแน่นไม่ถอยหละ อินฺทขีลูปโม เหมือนอย่างกับเสาเขื่อนปักอยู่ในน้ำ ถ้าลมพัดมาจากทิศทั้ง ๔ ทั้ง ๘ไม่เขยื้อน หรือไม่ฉะนั้น ปพฺพตูปโม เหมือนอย่างภูเขา ลมพัดมาแต่ทิศทั้ง ๔ ทั้ง ๘ ใจไม่เขยื้อน แน่นเป๋งเชียว แน่นกั๊กทีเดียว นั่นแหละใจแน่นอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้านั่นแหละ นั่นแหละเรียกว่า สทฺธมฺมครุโน หละ ท่านเป็นผู้เคารพพระสัทธรรม เมื่อท่านเห็นเช่นนั้น บัดนี้จะเคารพใคร ไม่มีแล้วที่เราจะเคารพ ในมนุษย์โลกทั้งหมดต่ำกว่าเราทั้งนั้น ในเทวโลก พรหมโลก อรูปพรหมต่ำกว่าเราทั้งนั้น ตลอดไม่มีแล้วในภพทั้ง ๓ จะหาเสมอเราไม่มี สูงกว่าเราไม่มี เราสูงกว่าทั้งนั้น ที่เป็นอย่างเราไม่มี เราสูงกว่าทั้งนั้น พระองค์ก็ตั้งพระทัยวางพระทัยหยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายนั่นเอง ที่เป็นพระอรหัตสัมมาสัมพุทธเจ้านั่น หยุดนิ่งอยู่กลางดวงนั้น นั่นแหละกลางดวงอย่างนั้น และสมด้วยบาลีว่า เย จ สมฺพุทฺธา อตีตา พระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดในอดีต ที่เป็นไปล่วงแล้วมากน้อยเท่าไรไม่ว่า เย จ พุทฺธา อนาคตา พระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใดที่จะมาในอนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้า โย เจตรหิ สมฺพุทฺโธ พหุนฺนํ โสกนาสโน พระสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดซึ่งยังความโศกของมหาชนเป็นอันมากให้วินาศไป ซึ่งปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ นี่พระสิทธัตถกุมารองค์นี้แหละ สพฺเพ สทฺธมฺมครุโน ล้วนเคารพระสัทธรรมทั้งสิ้นแบบเดียวกันใจหยุดอยู่แบบเดียวกันหมด ใจหยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้านั่นแหละ ไม่ไปอื่นเลยแต่นิดหนึ่ง ติดแน่นเลยทีเดียว ไม่เผลอทีเดียวเรียกว่าท่านไม่เผลอจากดวงธรรมนั้นทีเดียว นั่นแหละเรียกว่า สทฺธมฺมครุโม เคารพสัทธรรม
- เมื่อท่านเคารพสัทธรรมแน่นหนาอยู่อย่างขนาดนี่แล้ว ไม่คลาดเคลื่อน ท่านจึงได้เตือนพวกเราว่า วิหรึสุ พระพุทธเจ้ามากน้อยเท่าใดที่มีอยู่แล้วเป็นอดีต วิหาติ จ พระพุทธเจ้ามีอยู่ในปัจจุบัน อถาปิ วิหริสฺสนติ อนึ่งพระพุทธเจ้าที่จะมีในอนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้าต่อไป เอสา พุทธาน ธมฺมตา ข้อนี้เป็นธรรมดาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายต้องใจติดอย่างนี้แบบเดียวกันบัดนี้เราเป็นมนุษย์ เราจะต้องปฏิบัติแบบนี้ ภิกษุจะต้องปฏิบัติแบบนี้ เป็นสามเณรก็จะต้องปฏิบัติแบบนี้ เป็นอุบาสกอุบาสิกาจะต้องปฏิบัติแบบนี้ทั้งหมด ก็บัดนี้ใจเราไม่ติดจะทำอย่างไรกัน พร่าเสียหมดแล้ว ไม่ติดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เราจะทำอย่างไรกัน นี่แน่ไม่ติดอย่างนี้ เรียกว่าไม่ถูกตามความประสงค์ของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ถ้าว่าใจไปติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์เหมือนอย่างกับท่านติดอย่างนั้นละก็ ก็ถูกเป้าหมายใจดำของพุทธศาสนาทีเดียว เราจะต้องแก้ไข ใจของเราให้ติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ เห็น จำ คิด รู้ มันแตก ไม่เข้าไปติดอยู่ตรงนั้น เราจะแก้ให้ติดมันก็ไม่ติด มันติดเสียข้างอื่น เช่น เราจะฟังธรรมสักครู่หนึ่งให้ติดให้มันหยุด มันไม่หยุด เที่ยวพร่าไปเสียหมด โน่น นั่นอยู่นี่แหละ จะเทศน์ก็ดี โน่นแลบไปโน่น จะฟังธรรมก็ดี โน่นแลบไปบ้านไปช่องไปห่วงวัวห่วงควาย ไปหาอะไรมิอะไรไปโน่น ไปตลาด ไปถนนหนทาง ไปโน่นมันพร่าไปเสียอย่างนั้น มันไม่ติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์มันก็เป็นใหญ่ไม่ได้ มันใหญ่ไม่ได้ มันไม่ถูกเป้าหมายใจดำ
- ที่จะเป็นใหญ่ได้ใจมันต้องเชื่อง ต้องติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ถ้าติดอยู่ได้เช่นนั้น ภิกษุหรือสามเณรติดอยู่ได้เช่นนั้นละก็ จะเป็นภิกษุที่ใหญ่ จะเป็นสามเณรที่เป็นใหญ่ ถ้าเป็นอุบาสกอุบาสิกาเล่า ถ้าใจไปติดอยู่ตรงนั้นละก็ จะเป็นอุบาสก อุบาสิกาที่เป็นใหญ่แต่ว่าเขาทำกันติดได้มีนะ ในวัดปากน้ำเขาทำติดได้กันมากทีเดียวแหละติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ พอติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ไม่หลุดหละ ก็ไม่ช้าเท่าไรหรอก ติดอยู่กลางนั่นแหละ ติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละก็ กลางของกลาง ๆ ๆ พอหยุดได้ก็กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ ๆ อยู่นั่นแหละ พอถูกส่วนเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดหยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด ก็เข้ากลางหยุดอีกนั่นแหละกลางของกลาง ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ก็จะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์
- พอเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ ก็เข้ากลางของกลาง ๆ ๆ ๆ ที่ใจหยุดนั้นแหละ จะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด แต่พอเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียดใจก็หยุด เข้ากลางของกลางที่หยุดนั่นแหละกลางของกลาง ๆ ๆ ๆ ๆ ทีเดียว จะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม
- เข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม แล้วหยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม ก็เข้ากลางของหยุดอีก กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ หนักเข้าก็จะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียด เมื่อใจเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหมละเอียดแล้ว พอหยุดแล้วเข้ากลางของกลางที่ใจหยุดนั่นแหละกลางของกลาง ๆ ๆ ๆ ก็จะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม
- เมื่อเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมแล้วใจก็หยุด ก็เข้ากลางของใจหยุดนั่นแหละ กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ จะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด
- พอเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียดแล้ว ใจก็หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียดนั่นแหละ กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ ๆ หนักเข้าก็จะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็น ธรรมกาย ใจก็หยุดอยู่กลางของหยุดอีกนั่นแหละกลางของกลาง ๆ ๆ ๆ จะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรมละเอียด
- แล้วหยุดกลางของหยุดนี้แหละ กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ จะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระโสดา พอเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระโสดาแล้วหยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระโสดา กลางของหยุดนั่นแหละ กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ ๆ จะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระโสดาละเอียด
- เข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระโสดาละเอียดแล้ว หยุดกลางของหยุดนั่นแหละ กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ ๆ จะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระสกทาคา เข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระสกทาคาแล้ว หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระสกทาคา เข้ากลางของใจที่หยุด กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ ๆ จะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระสกทาคาละเอียดที่เดียวกัน อยู่กลางกายมนุษย์นี่แหละไม่ได้ไปที่อื่น
- หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระสกทาคาละเอียดแล้วเข้ากลางของใจที่หยุด และกลางของกลาง ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ จะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอนาคา เข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอนาคาแล้ว หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอนาคา พอหยุดแล้วเข้ากลางของใจที่หยุดนั่น กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ ๆ จะเข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอนาคาละเอียด
- เข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอนาคาละเอียดแล้ว หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอนาคาละเอียด กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ ๆ หนักเข้าจะเข้าถึงกายพระอรหัตเป็นตัวพระพุทธเจ้าทีเดียว
- เมื่อเข้าถึงกายพระอรหัต เมื่อถึงกายพระอรหัตแล้วหยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระอรหัตนั่น กลางของกลาง ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ไม่มีไปไหนละ เข้าถึงกายธรรมของพระอรหัตละเอียดก็กลางของกลางนั่นแหละ กลางของกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอรหัตละเอียดนั่นแหละกลางของกลาง ๆ ๆ ๆ ๆ ตั้งแต่เป็นพระพุทธเจ้าแล้วไม่ได้ถอยจากการหยุดเลย กลางของกลางอย่างนี้เรื่อยไป ท่านจึงถึงซึ่งความเป็นใหญ่ เราต้องไหว้บูชาท่านขนาดนี้ เราก็ต้องเดินแบบนี้ซิ เป็นภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาในพุทธศาสนา เดินแบบนี้ไม่ได้ก็ใช้ไม่ได้ ไม่ถูก ไม่ถูกเป้าหมายใจดำ ไม่เคารพพระพุทธเจ้า ไม่นับถือพระพุทธเจ้า ไม่บูชาพระพุทธเจ้า
- ท่านถึงได้กล่าวเป็นบทไว้ว่า คำที่เรียกว่า ธรรม คิอ ทำดี ไม่ใช่ทำชั่ว ท่านยกเป็นตำรับตำราไว้ว่า น หิ ธมฺโม อธมฺโม อุโภ สมวิปากโนอธมฺโม นิรยํ เนติ ธมฺโม ปาเปติ สุคตึ อุโภ สภาวา สภาพทั้งสอง ธมฺโม จ คือธรรมด้วย อธมฺโม จ คือไม่ใช่ธรรมด้วย มีผลไม่เสมอกัน หามีผลเสมอกันไม่ อธมฺโม นิรยํ เนติ อธรรมที่ไม่ใช่ธรรม ย่อมนำสัตว์ไปสู่นรก ธมฺโม ปาเปติ สุคตึ สิ่งที่เป็นธรรม สภาพที่เป็นธรรม ยังสัตว์ให้ถึงซึ่งสุคติ ไม่เหมือนกันอย่างนี้ เมื่อรู้จักสภาพที่ไม่เป็นธรรม ถ้าว่าเราอยู่เสียกับธรรมเช่นนี้แล้วสภาพที่ไม่เป็นธรรมก็ไม่เข้ามาเจือปนได้ ไม่สามารถทำอะไรกับเราได้ เราอยู่เสียกับธรรมเรื่อยไปไม่ออกจากธรรม ไม่ถอนจากธรรมทีเดียว สภาพที่ไม่ใช่ธรรมก็มาทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่เป็นบาปอกุศลที่เป็นชั่วร้ายมาทำอะไรไม่ได้ เราอยู่กับธรรมเรื่อยไป อยู่กับฝ่ายดีฝ่ายเดียว เมื่ออยู่ฝ่ายดีฝ่ายเดียว แตกกายทำลายขันธ์กายก็ไม่มีเสีย วาจาก็ไม่มีเสีย ใจก็ไม่มีเสีย เมื่อแตกกายทำลายขันธ์ ก็มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า นรกไม่มีทีเดียว นี่ขั้นต่ำไม่ไปนรกทีเดียว เมื่อรู้จักหลักอันนี้ต้องปฏิบัติให้ถูกส่วน ให้ถูกในธรรมเสมอ อย่าเอาใจไปวางที่อื่นให้จรดอยู่กลางดวงธรรม วางอยู่กลางดวงธรรมเสมอไป เรื่องนี้พระจอมไตรเมื่อมีพระชนม์อยู่ก็สอนอย่างนั้น ถึงแม้จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ก็โอวาทของพระองค์ก็ยังทรงปรากฏอยู่ว่า
- อุกาส โย ปน ภิกฺขุ ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน วิหรติ สามีจิปฏิปนฺโน อนุธมฺมจารี โส ตถาคตํ สกฺกโรติ ครุกโรติ มาเนติปูเชติ ปรมาย ปูชาย ปฏิปตฺติปูชาย ว่า เราขอโอกาส ภิกษุผู้ศึกษาในธรรมวินัยรูปใด ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน ปฏิบัติธรรมตามธรรม ปฏิบัติธรรมตามธรรมนั้นได้แก่ใจหยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์แล้ว ก็ให้เข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม อรูปพรหมละเอียดกายธรรม กายธรรมละเอียดโสดา โสดาละเอียด สกทาคา สกทาคาละเอียด อนาคา อนาคาละเอียด อรหัต อรหัตละเอียดก็ปฏิบัติตามธรรมอย่างนี้ ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน ปฏิบัติตามธรรมอย่างนี้สามีจิปฏิปนฺโน ปฏิบัติชอบยิ่งให้ชอบหนักขึ้นไป ยิ่งหนักขึ้นไปไม่ถอยหลังเหมือนพระบรมศาสดาดังนั้น ให้เป็นตัวอย่างดังนั้น อนุธมฺมจารี ประพฤติตามธรรมไม่ขาดสาย อนุธมฺจารี ประพฤติตามธรรมไม่ให้หลีกเลี่ยงไม่ให้หลีกเลี่ยงจากธรรมไปได้ให้ตรง ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นยากตลอดไป นี่เรียกว่า อนุธมฺมจารีโส ภิกฺขุ ผู้ศึกษาในธรรมวินัยนั้น สกฺกโรติ ได้ชื่อว่าสักการะ ครุกโรติ ได้ชื่อว่าเคาพ มาเนติ ได้ชื่อว่านับถือ ปูเชติ ได้ชื่อว่าบูชา ตถาคตํ ซึ่งเราผู้ตถาคต ปรมาย ปูชาย ปฏิปตฺติปูชาย ด้วยปฏิบัติบูชาเป็นอย่างยิ่ง นี่ประสงค์อย่างนี้ให้ได้จริงอย่างนี้
นี่วัดปากน้ำเขาทำกันแล้ว มีธรรมอย่างนี้ไม่ใช่น้อย มีจำนวนร้อย ทั้งภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา แต่ว่าเขาพบของจริงขนาดนี้เขาเผลอสติเสียเขาไม่รู้ว่าของจริงสำคัญเขาดันเอาใจไปใช้ทางอื่นเสียเขาไม่นิ่งดิ่งหนักลงไป
- เข้าถึงเป็นลำดับไป เข้าถึงเป็นชั้นๆ จนกระทั่งถึงกายพระอรหัตเข้าถึงกายพระอรหัต เขาไม่ถอนถอยทีเดียว เขาจะเป็นพระอรหัตให้ได้ อย่างนี้ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ละก็ นั่นแหละเคารพพระสัทธรรมแท้ๆ แน่วแน่หละ คนนั้นน่ะเป็นอายุพระศาสนา เป็นกำลังพระศาสนาทีเดียว เป็นตัวอย่างอันดีของภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาในยุคนี้และต่อไปในภายหน้าทีเดียว ได้ชื่อว่าทำตนของตนให้เป็นกระสวนเป็นเนติแบบแผนทีเดียว ไม่เสียทีที่พ่อแม่อาบน้ำป้อนข้าวอุ้มท้องมา ไม่เสียทีเปล่า แม้จะทูนไว้ด้วยเศียรเกล้าก็ไม่หนักเศียรเกล้าเปล่า จะอาบน้ำป้อนข้าวก็ไม่เหนื่อยยากลำบากเปล่า ได้ผลจริงจังอย่างนี้ เหตุนี้เราท่านทั้งหลายทั้งคฤหัสถ์และบรรชิต อุบาสกอุบาสิกา เมื่อรู้จักหลักอันนี้แล้ว อย่าเอาใจไปจรดอื่น ให้จรดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ขั้นต้น จนกระทั่งถึงพระอรหัตขั้นสุดท้าย ๑๘ กายนี้ แล้วก็หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพระอรหัตอย่าถอย กลับนิ่งแน่นอยู่นั่น นั่นแหละถูกเป้าหมายใจดำทางพระพุทธศาสนา
- ที่ได้ชี้แจงแสดงมานี้ใน คารวคาถา เฉลิมเพิ่มเติมศรัทธาของภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา ทั้งหลายได้พากันมาสดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนาเห็นสภาวะปานฉะนี้ ด้วยอำนาจสัจจวาทีที่ได้อ้างธรรมเทศนาตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแด่ท่านทั้งหลายบรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า รตนตฺตยานุภาเวน ด้วยอานุภาพรัตนะทั้ง ๓ คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ สามประการนี้ จงดลบันดาลความสุขสวัสดิ์ให้อุบัติบังเกิดมี เป็นปรากฏในขันธปัญจกแห่งท่านทั้งหลายทุกถ้วนหน้า ที่ได้ชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมิกถาโดยอรรถนิยมความเพียงแค่นี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ฯ